หลักการมองกระจกหลัง กระจกด้านข้างและจุดบอดที่มองไม่เห็น

หลักการมองกระจกหลัง กระจกด้านข้างและจุดบอดของรถยนต์

หลักการมองกระจกหลัง กระจกด้านข้างและจุดบอดที่มองไม่เห็น

เรื่องนี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการขับรถมากเลยนะครับ ผมสังเกตุเห็นคนที่ขับรถมากมาย ที่คิดว่าเป็นเรื่องพื้นๆ แต่พบว่าจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากการมองไม่เห็นรถที่อยู่ใกล้ๆ หรือด้านหลังรถของเรา ที่กำลังขับขี่อยู่ ก็มีเยอะไม่แพ้กับอุบัติเหตุจากสาเหตุอื่นๆ เช่นเดียวกัน มีอยู่ 2 หลักการดังนี้

1. การประเมินสถาณการณ์ในขณะขับรถเบื้องต้น คือให้เรามองที่กระจกหลังก่อน แล้วมองที่กระจกข้างด้านซ้ายและกระจกข้างด้านขวา ตามลำดับ สำหรับการมองกระจกข้างด้านซ้ายหรือขวานั้น ไม่มีกฏแน่นอน ว่าต้องมองด้านไหนก่อน ขึ้นอยู่กับสถาณการณ์ครับ แต่จากประสบการณ์จริง โดยภาพรวม ในขณะขับรถ การมองกระจกตามสเต็ปที่ผมแนะนำไว้ข้างต้น ใช้เวลาที่เร็วที่สุด และสัมพันธ์กับหลักการที่ 2

2. จุดบอดหรือตำแหน่งที่มองไม่เห็น นี่คือหลักการที่สำคัญที่สุดและปลอดภัยที่สุดหลักการหนึ่งของการขับรถ ก่อนการตัดสินใจ ไม่ว่าก่อนจะเลี้ยวซ้าย ก่อนจะเลี้ยวขวา และก่อนการเร่งแซง จุดบอดที่ว่านั้น มีจุดตัดอยู่ 2 จุดด้วยกัน คือ

  • 2.1 ตำแหน่งระหว่างสายตาผู้ขับขี่และกระจกข้างด้านซ้าย เฉียงไปด้านหลังประมาณ 45 องศา
  • 2.2 ตำแหน่งระหว่างสายตาผู้ขับขี่และกระจกข้างด้านขวา เฉียงไปด้านหลังประมาณ 45 องศา
  • เมื่อเรานำหลักการนี้มาประยุกต์ใช้รวมกับหลักการแรก ก็จะเป็นการประเมินสถาณการณ์โดยรวมอย่างมีประสิทธิภาพ ขั้นตอนการมองกระจกที่ผมใช้อยู่เป็นประจำก่อนที่จะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา และก่อนจะเร่งแซง ก็คือ มองกระจกหลังก่อน แล้วมองกระจกข้างซ้าย จากนั้นก็มองไปที่จุดบอดทางด้านซ้าย ต่อมาก็มองที่กระจกข้างขวาแล้วก็มองไปที่จุดบอดทางด้านขวา

    สำหรับการสอบใบขับขี่ในประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งผมเคยไปอยู่ที่นั่น เป็นหนึ่งในประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เค้าจะใช้หลักเดียวกันนี้ในการประเมินผู้สอบใบขับขี่ โดยผู้ประเมินจะนั่งรถไปกับเราแล้วก็ทดสอบทักษะในการขับขี่ของเรา ไม่ว่าจะเป็นการจับพวงมาลัย การขับรถไปตามวงเวียน และแยกต่างๆ การขับรถถอยหลังเข้าซอยเล็กๆ การกะระยะเวลาในการเปิดไฟเลี้ยว การมองกระจกด้านหลังและด้านข้าง ถ้าเราไม่รู้หลักการตรงนี้ เค้าจะประเมินว่า สอบตกทันที และไม่ให้ใบขับขี่เรา กว่าจะได้สอบแก้ตัวอีกครั้งเท่าที่ผมจำได้ เค้าจะเว้นช่วงอีก 3 เดือน ถึงจะให้เรากลับมาสอบใบขับขี่อีกครั้งหนึ่ง

    ซึ่งแตกต่างกับการสอบใบขับขี่ในประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง เพราะในต่างประเทศจะเน้นในเรื่องความรู้ของตัวบุคคล และความปลอดภัยเป็นพิเศษ และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่สถิติการเกิดอุบัติเหตุของกลุ่มประเทศเหล่านี้ ก็อยู่ในระดับที่ต่ำด้วย

    สำหรับบทความชิ้นต่อไป ผมคิดว่าเนื้อหาจะเข้มข้นเรื่อยๆ เพราะมีทั้งเรื่องเกี่ยวกับหลักการคำนวณและการใช้สมาธิมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ ในการขับรถ สุดท้ายนี้หวังว่า หลักการที่ผมแบ่งปันนี้จะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่าน และนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อการขับรถเดินทางด้วยความปลอดภัยของท่านเองและบุคคลที่ท่านรัก นะครับ…

    ความคิดเห็น