อนาคตของเทคโนโลยีในรถยนต์

อนาคตของเทคโนโลยีในรถยนต์

อนาคตของเทคโนโลยีในรถยนต์

ยุคนี้ ถือว่า เป็นยุคแห่งเทคโนโลยี และข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเทคโนโลยี ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก็ง่ายและรวดเร็ว เพราะช่องทางการสื่อสาร มีอยู่หลากหลายช่องทาง เช่น ทีวี เว็บไซต์ และโซเชียลเน็ตเวิร์ค อย่าง facebook , twitter ที่กำลังเป็นที่นิยมและเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้ผู้คนมากมาย สามารถนำเทคโนโลยี ที่ได้เรียนรู้เหล่านั้น มาพัฒนาต่อยอดกับผลิตภัณฑ์ของตนเอง ได้เป็นอย่างดี

สิ่งเหล่านั้นกำลังบอกอะไร ผมคิดว่ามันคือ “วิวัฒนาการที่มนุษย์กำลังเรียนรู้และพัฒนา” นำไปสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นกับอุปกรณ์ เครื่องมือสื่อสาร เครื่องจักรและรถยนต์ อย่างที่เราเคยเห็นตัวอย่างมาแล้ว ในท้องตลาด กับสินค้าบางประเภท ที่ประยุกต์ใช้ นำระบบไอที มาใช้ด้วยกันได้อย่างลงตัว ในที่นี้จะกล่าวถึงเทคโนโลยีในรถยนต์บ้างนะครับ เพราะผมค้นพบว่า เราสามารถนำเทคโนโลยีบางอย่าง ไปประยุกต์ใช้ในรถยนต์ได้ มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ รถยนต์กำลังจะก้าวไปสู่การพัฒนาที่เข้าใกล้กับคอมพิวเตอร์มากขึ้น

กล่าวคือ ทุกวันนี้ สวทช. สามารถพัฒนาการผลิตกล่อง ECU สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ นำไปใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลได้ โดยไม่ต้องยกเครื่องใหม่ ที่เดิมทีต้องลงทุนเป็นหลักแสนบาท จึงจะสามารถใช้ก๊าซกับเครื่องยนต์ดีเซลได้ และสามารถเลือกได้ว่า ต้องการใช้ทั้งการประมวลผลจ่ายทั้งน้ำมันและก๊าซ หรือว่าจะใช้ก๊าซอย่างเดียวก็ได้ สิ่งเหล่านี้มันกำลังบ่งบอกว่า การจ่ายเชื้อเพลิงและการทำงานของระบบต่างๆ ในรถยนต์ สามารถควบคุมได้โดยอุปกรณ์ไอทีและซอฟแวร์ เป็นการลดข้อจำกัดและความเชื่อเดิมๆ

ในอนาคตผมเชื่อว่า น่าจะมีการนำ CPU ระบบปฏิบัติการ และซอฟแวร์มาใช้ในรถยนต์ เหมือนกับคอมพิวเตอร์มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อควบคุมระบบการทำงานเกือบทั้งระบบในรถยนต์ แทนที่การใช้กล่อง ECU ในปัจจุบัน ที่มีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ที่แต่ละค่ายผู้ผลิต ต้องพัฒนากันเอง และส่วนใหญ่ต้องลงทุนสูง ไปกับฮาร์ดแวร์ เวลาจะเปลี่ยนกล่อง ECU ทีหนึ่งก็ต้องใช้งบไปหลายหมื่นบาท แทนที่จะทุ่มเทไปที่ซอฟแวร์ ลดต้นทุนได้ทั้งฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภค จะได้ไม่ต้องใช้ทรัพยากรโลกอย่างสิ้นเปลือง เหมือนกับที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

เจ้า CPU รถยนต์ ในจินตนาการของผมนี้ เริ่มต้นด้วยการมีระบบปฏิบัติการเหมือนกับ WINDOWS หรือ MAC OS แต่นี่ จะเป็นระบบปฏิบัติการ หรือ OS สำหรับใช้กับรถยนต์ มีความสามารถในการทำงานหลายๆ อย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการประมวลผลสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ระบบแอร์และการควบคุมอุณหภูมิ ระบบควบคุมการทรงตัว ระบบกระจายแรงเบรก เซ็นเซอร์วัดแรงดันลมยาง ระบบควบคุมหรือล็อกความเร็วในการเดินทาง ระบบรายงานการเดินทาง ความเร็วเฉลี่ย อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ระบบการเข้ารหัสผู้ใช้ ก่อนจะเข้าใช้หรือสตาร์ทเครื่องยนต์ ซึ่งจะทำให้การโจรกรรมแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้และยากมาก ซึ่งหลายๆ ระบบที่กล่าวมานี้ มีชุดคำสั่งอยู่แล้วในกล่อง ECU ของรถยนต์หลายๆ ค่าย แต่เราสามารถนำระบบเหล่านี้ไปใช้กับ CPU ในรถยนต์ ประยุกต์เขียนชุดคำสั่ง และควบคุมโดยโปรแกรมได้

ทั้งหมดนี้ถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ ระบบปฏิบัติการ และ CPU ในรถยนต์ มีหน่วยความจำ มีระบบการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม เหมือนกับระบบแทร็คกิ้ง GPS ในรถยนต์ สามารถอัพเดตซอฟแวร์และฐานข้อมูลผ่านเซิฟเวอร์ของบริษัทได้ตลอดเวลา ผมคิดว่าจะสามารถลดต้นทุนทั้งฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภคได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว อย่างเช่น ในกรณีระบบการทำงานของกล่อง ECU หรือระบบปฏิบัติการของรถยนต์ ที่ควบคุมได้ด้วยคอมพิวเตอร์ เกิดขัดข้อง ต้องการปรับแต่งสมรรถนะของรถยนต์ ให้ดีขึ้นหรือมีซอฟแวร์ใหม่ๆ ที่ให้ค่าการจ่ายเชื้อเพลิง ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ก็สามารถอัพเดตเฟิร์มแวร์หรือซอฟแวร์ผ่านอินเตอร์เน็ตได้ทันที หรืออัพเดตอัตโนมัติโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องเสียเวลา เสียค่าน้ำมัน เดินทางไปถึงศูนย์ นอกจากจะสามารถลดต้นทุนในด้านต่างๆ ได้แล้ว ยังสามารถช่วยลดการปล่อยมลพิษ ลดการใช้ทรัพยากรโลก และช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย

ดังนั้น การที่เราจะนำระบบไอที มาประยุกต์ใช้กับรถยนต์ได้นั้น ผู้ผลิตก็ต้องมีความเชี่ยวชาญในเรื่อง คอมพิวเตอร์ ซอฟแวร์ โปรแกรมมิ่ง และมีการเตรียมระบบ ฐานข้อมูลทุกอย่างไว้เป็นอย่างดีด้วย จึงจะสามารถบริหารจัดการระบบเหล่านี้ได้อย่างไม่ติดขัด หรือสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ในกรณีเกิดปัญหา และผมก็เชื่อว่ามีคนเก่งๆ เหล่านี้อยู่เพรียบพร้อมอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าใครจะสามารถคิดนอกกรอบ ผลักดันสิ่งใหม่ๆ สิ่งที่โลกยังคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ เหมือนอย่างที่ สตีฟ จ็อบ แห่งบริษัทแอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ อัจฉริยะบุคคลทางด้านเทคโนโลยีของโลก ผู้ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว สามารถทำสิ่งที่โลกคิดว่า เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้มาแล้ว.

ความคิดเห็น